New Year New Normal

New Year New Normal

เมื่อพูดถึงเทศกาลปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมักจะทำคือ New Year resolution หรือการตั้งปณิธานเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ อันจะนำไปสู่วิถีชีวิตที่พึงประสงค์ ในช่วงปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์เข้ามามากมายที่ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปจากเดิมโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 หรือฝุ่น PM 2.5 ที่มาเยือนทุกปีจนกลายเทศกาลไปแล้ว ดังนั้น New Year resolution ในปีนี้อาจจะเป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้อย่างสุขกาย และสบายใจให้มากที่สุด จนเป็น New Year New Normal ดังนี้

การป้องกันร่างกายเพื่อไม่ให้ป่วยจากสถานการณ์ปัจจุบัน 

ในสถานการณ์ปัจจุบันการป้องกันร่างกายเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในส่วนของ Covid-19 การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้ายังเป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันโรค การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือการใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ การไม่สัมผัสตา ปาก จมูก บ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านอวัยวะเหล่านี้ ซึ่งควรปฏิบัติให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ส่วนสถานการณ์ ฝุ่น PM2.5 นั้น ก็ยังเป็นเหตุการณ์ยอดฮิตต่อเนื่องมาหลายปี ดังนั้นการป้องกันตนเองจาก PM 2.5 ก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งเจ้าฝุ่นนี้ทำให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้น เช่น ทำให้เกิดอาการแพ้ มีน้ำมูก ไอ คันตา น้ำตาไหล ในส่วนของระยะยาวนั้น ฝุ่น PM 2.5 อาจเป็นผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลดลง เพราะเทโลเมียร์ซึ่งเป็นดีเอ็นเอกำหนดอายุขัยของสิ่งมีชีวิตในโครโมโซมมีขนาดสั้นลง ทำให้แก่เร็วขึ้นและอายุสั้นลงได้ด้วย ดังนั้นควรป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ เช่นหน้ากาก N95 หน้ากากที่ได้รับการรับรองว่ากรองฝุ่น 2.5 ไมครอนได้ หรือหน้ากากผ้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์พ่นเพื่อทำให้เส้นใยมีความถี่ขึ้นจนสามารถป้องกันฝุ่นพิษนี้ได้ นอกจากจะป้องกันฝุ่นแล้วยังสามารถป้องกันไวรัส Covid-19 และเชื้อก่อโรคอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้เราอาจจะต้องหาตัวช่วยหากมีอาการแพ้ น้ำมูกไหล เช่น น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อล้างทำความสะอาดโพรงจมูก และหากมีอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ใช้ชีวิตอย่างไรให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อไม่ให้ป่วยง่ายจากสถานการณ์ปัจจุบัน  

การทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ กุญแจสำคัญที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงคือการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และที่สำคัญคือต้องรักษาสุขภาพจิตให้ดีเนื่องจากสุขภาพจิตส่งผลต่อสุขภาพกายโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเครียดส่งผลต่อหลายระบบในร่างกาย ทำให้ป่วยง่ายและอ่อนเพลีย นอกจากการรักษาสุขภาพเหล่านี้แล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบันเราสามารถเสริมสารอาหารบางตัวเข้ามาเพื่อช่วยในการดูแลสุขภาพ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ เนื่องจาก เจ้าฝุ่นร้าย PM2.5 นี้ทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากมายขึ้นในร่างกาย หากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้หมดจะทำให้เซลล์ในร่างกายมีความเสื่อม เกิดริ้วรอยก่อนวัย และอาจเป็นสาเหตุของการก่อโรคในระยะยาวได้ ดังนั้นการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี โคคิวเทน หรือ แอสต้าแซนทีน อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยในการดูแลสุขภาพในช่วงนี้ค่ะ

การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสมกับสภาพผิวและปัญหาผิว 

ในช่วงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 นอกจากการดูแลสุขภาพกายองค์รวมและสิ่งที่ควรคำนึงอีกประการคือสุขภาพผิว นอกจากการเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิวแล้ว เช่น ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม ปัญหาผิวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงในการเลือกผลิตภัณฑ์อีกด้วย ซึ่งปัญหาผิวที่พบบ่อยในช่วงนี้คือ ผิวแพ้ง่าย ดังนั้นหากใครมักจะเป็นภาวะผิวแพ้ง่ายอยู่แล้ว ควรที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า สำหรับผิวแพ้ง่าย หรือ Hypoallergenic เพราะจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหรือเสี่ยงต่อการแพ้ ยกตัวอย่างเช่น SLS Paraben น้ำหอม กลิ่น และ สี เป็นต้น จึงเหมาะกับผิวแพ้ง่าย และสิ่งที่สำคัญสำหรับการดูแลผิวแพ้ง่ายนั้นคือ ความชุ่มชื้น หากผิวมีความชุ่มชื้นเหมาะสมผิวจะแข็งแรง ผลัดเซลล์ผิวได้ตามธรรมชาติ และปราการผิวแข็งแรง เมื่อผิวแข็งแรงขึ้น สารก่อภูมิแพ้หรือเชื้อโรคก็เข้าสู่ผิวหนังได้ยากขึ้น ดังนั้นนอกจากเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าสำหรับผิวแพ้ง่ายแล้ว ควรจะเลือกที่ให้ความชุ่มชื้นสูง เช่น กลีเซอรีน แพนธีนอล หรือ เซราไมด์ เป็นต้น นอกจากนี้สารที่ช่วยลดการระคายเคือง เช่น อัลลันโทอิน ก็จะมีส่วนช่วยให้ผิวแพ้ง่ายแข็งแรงขึ้นได้ด้วยค่ะ

Reference 

เมื่ออายุสุขภาพที่แท้จริงของคนเราไม่สามารถวัดได้ด้วยปีเกิด. (2020). Retrieved 30 November 2020, from https://www.bdmswellness.com/th/health-guide/11/th/health-guide/6/Blue%20light%20ภัยเงียบจากหน้าจอสมาร์ทโฟน!.html