ออฟฟิศซินโดรม อาการยอดฮิตในวัยทำงานที่จำเป็นต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน บางครั้งการที่ต้องอยู่ในท่านั่งที่ไม่ถูกต้องหรือท่าเดิมนาน ๆ อาจเกิดการสะสมของอาการที่ผิดปกตินำไปสู่การเจ็บปวดตามร่างกาย ทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบายและเกิดการติดขัดในการทำงาน
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส จึงมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรม วิธีแก้อาการ ปวด คอ บ่า ไหล่ เป็นแล้วรักษาได้ มาแบ่งปันกัน
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร
ออฟฟิศซินโดรม(Office Syndrome) คือ อาการการปวดมัดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด มักพบในผู้ที่ต้องนั่งทำงานท่าเดิมด้วยการใช้มัดกล้ามเนื้อเดิม ๆ ในระยะเวลานานเป็นประจำหลายชั่วโมงติดต่อกัน ส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อส่วนนั้นอักเสบและเกิดอาการปวดตามมา
ออฟฟิศซินโดรม อาการเป็นอย่างไร
อาการของออฟฟิศซินโดรมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
1. การปวดมัดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน
มักเริ่มต้นที่ ไหล่ และลามไปทั่วทั้งร่างกายเป็นวงกว้าง เช่น คอ บ่า ไหล่ สะบัก ข้อมือ มีลักษณะการปวด
แบบปวดร้าวตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
2. อาการที่ส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ
เช่น เหน็บชา ซ่า รู้สึกวูบไหว เหงื่อออกในบริเวณที่ปวดร้าว หากมีอาการปวดเฉพาะส่วนบริเวณคอ
สามารถส่งผลให้เกิดอาการมึนงง ตาพร่า หูอื้อ ปวดศีรษะ เป็นต้น
3. อาการระบบประสาทถูกกดทับ
สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อระบบประสาทบริเวณนั้นถูกกดทับเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เช่น อาการชา อ่อนแรง ตามข้อมือหรือแขน
อาการป่วย ที่เกิดจากการนั่งท่าเดิมนาน ๆ
การนั่งทำงานในท่าเดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน นอกจากจะเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้วนั้น ยังก่อให้เกิดโรคหรือผลอื่น ๆ ตามมาดังนี้
- ปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อ
– คอและไหล่แข็ง จากการใช้มัดกล้ามเนื้อส่วนนี้ ในการใช้งานคีย์บอร์ดและเมาส์
– สูญเสียกล้ามเนื้อบริเวณขาและบั้นท้าย ซึ่งมัดกล้ามเนื้อส่วนนี้มีความสำคัญต่อการเดินและการทรงตัว หากกล้ามเนื้อเหล่านี้อ่อนแอ อาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ง่าย
– กล้ามเนื้อส่วนหลังและสะโพกสั้นลง ส่งผลให้ข้อต่อสะโพกมีปัญหาได้ อีกทั้งการนั่งผิดท่าเป็นประจำต่อเนื่อง อาจส่งผลไปสู่กระดูกสันหลังได้ เช่น เกิดการกดทับของหมอนรองกระดูกสันหลัง - เส้นเลือดขอด เส้นเลือดตีบ เนื่องจากการนั่งนาน ๆ นั้นทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เป็นปกติส่งผลให้เกิดการคั่งข้างที่ขา
- เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งลำไส้, โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคอ้วน เนื่องจากการที่ร่างกายไม่ได้ขยับตัว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ทำให้ระบบเผาผลาญนั้นทำงานได้ไม่ดีส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น หากระบบเผาผลาญไม่ดี จะทำให้เกิดการสะสมของไขมัน ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน หรือโรคอื่น ๆ ตามมาเป็นต้น
- เกิดการอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า เนื่องจากอาการเหล่านี้มักพบในผู้ที่อยู่กับที่เป็นเวลา
นาน ๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ
ดังนั้นหากท่านใดที่มีกิจวัตรประจำวันที่ต้องอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือหาวิธีป้องกันและแก้ไข ดังที่เรากำลังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป เพื่อลดโอกาสเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมาได้
วิธีการแก้อาการ ออฟฟิศซินโดรม ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
1. การจัดท่านั่งทำงานที่เหมาะสม
- ปรับระดับความสูงของโต๊ะทำงานให้มีความเหมาะสม โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้นต้องอยู่ในระดับสายตา
- ปรับระดับเก้าอี้ให้เหมาะสม มีที่วางแขนและข้อมือขนานไปกับโต๊ะทำงาน หลังตรงพิงพนักเก้าอี้้
มีเบาะนั่ง รองรับการวางต้นขาให้ขนานไปกับพื้น และเข่าต้องงอไม่เกิน 90 – 110 องศา - วางเมาส์ และคีย์บอร์ดให้ไม่ไกลเกินไป สามารถสังเกตได้ด้วยการที่ต้องไม่เอื้อมแขน หรือก้มหลังข้อศอกควรงอประมาณ 90 องศา
2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ
ควรปรับเปลี่ยนท่านั่งทำงานอยู่เสมอ ไม่ควรอยู่ในอิริยาบถ เดิม ๆ เป็นระยะเวลานาน อาจปรับเปลี่ยนท่านั่งอย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง ลุกขึ้นมายืดเหยียด พักสายตามองวิวออกไปข้างนอกหน้าต่าง เพื่อช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
3. การประคบร้อนบริเวณที่ปวด
นำถุงร้อนมาวางประคบบริเวณที่มีอาการทิ้งไว้ ประมาณ 10 – 15 นาที แล้วจึงนำออก จะได้ผลดีหากทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้การประคบไม่สามารถทำได้ในผู้ที่มีผิวหนังเป็นผื่น มีแผล คลำแล้วพบก้อน หรือผิวหนังชาและไม่รู้สึกในบริเวณนั้น
4. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย เป็นการขยับร่างกายให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่นผ่อนคลาย เตรียมความพร้อมร่างกาย ป้องกันอาการบาดเจ็บจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ
5. สังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ ออฟฟิศซินโดรม
คอยสังเกตตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการซ้ำ ๆ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการปวดออฟฟิศซินโดรมได้
แนวทางการรักษาอาการ ออฟฟิศซินโดรม จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากทำการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยตนเองเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียดและหาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับอาการ โดยมีแนวทางการรักษา ดังนี้
1. การทำกายภาพบำบัดจากอุปกรณ์ทางการแพทย์
ในขั้นนี้จะทำงานร่วมกันกับนักกายภาพบำบัด ที่จะเข้ามาช่วยปรับแต่งโปรแกรมให้เข้ากับอาการออฟฟิศซินโดรมที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยการใช้อุปกรณ์เฉพาะทางหรือโปรแกรมออกกำลังกายเฉพาะบุคคล
2. การฝังเข็ม บรรเทาอาการ ออฟฟิศซินโดรม
สามารถทำได้ด้วยแพทย์แผนจีน (Acupuncture) หรือ แพทย์ตะวันตก (Dry Needling) ขึ้นอยู่กับแนวทางรักษาของแพทย์เจ้าของไข้
3. การรับประทานยา
เพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมหรือรักษาร่วมกับวิธีอื่น ๆ การรับประทานยาทุกครั้งควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ที่มา
The Efficacy of Healthy Stand on Back Pain in Office Syndrome จาก วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
Work From Home อย่างไรให้ห่างไกลOffice syndrome จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
The dangers of sitting: why sitting is the new smoking จาก Better Health Channel