โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease: HFMD) คือ โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Enterovirus พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยพบการระบาดมากในที่ๆ เด็กอยู่รวมกัน เช่น โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก มักระบาดในช่วงฤดูฝน ในประเทศเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย เป็นต้น
เชื้อไวรัสต้นเหตุของโรคมือเท้าปาก สามารถแพร่กระจายได้จาก 2 ช่องทางหลักคือ
-
การสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำจากแผล ตุ่มใสตามผิวหนังของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสผ่านสิ่งของที่ปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งดังกล่าว
-
การสัมผัสกับอุจจาระของผู้ป่วย โดยช่วงที่มีการแพร่กระจายของไวรัสมากที่สุดคือสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ และยังพบเชื้อในอุจจาระของผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์
อาการที่พบเมื่อเป็น โรคมือ เท้า ปาก ได้แก่
-
ไข้ ระยะเวลานาน 3-5 วัน
-
แผลในปาก บริเวณเพดานอ่อน ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บ กลืนน้ำลายไม่ได้ รับประทานอาหารได้น้อยลง
-
ตุ่มน้ำใสหรือจุดแดงบนผิวหนัง บริเวณง่ามนิ้วมือนิ้วเท้าเท้า ฝ่ามือฝ่าเท้า รอบก้น อวัยวะเพศ
-
ผื่นที่ลำตัว แขน ขา โดยไม่มีอาการคัน
ส่วนมากเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก อาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้การติดเชื้อ Enterovirus สายพันธุ์ 71 อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในสมองหรือหัวใจ ส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูง เหงื่อออกมาก ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบเหนื่อย ชัก เป็นต้น
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก
เมื่อเป็นโรคมือเท้าปากโดยทั่วไปผู้ป่วยหายได้เอง การรักษาที่สำคัญเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดได้ และแนะนำการรักษาตามอาการ ดังนี้
-
ไข้
ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล พร้อมกับการเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อระบายความร้อน
-
แผลในปาก
ทายาชา หรือยาป้ายแผลในปาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ และทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น
-
ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารได้น้อย
ให้เกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลีย กระตุ้นให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น ให้อาหารเหลวที่รับประทานได้ง่าย อาหารที่รสชาติไม่จัดเพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อแผล หรือให้ทานไอศครีมเพื่อทำให้บรรเทาความเจ็บแผล
การป้องกันโรคมือเท้าปาก
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก การป้องกันการเป็นโรคที่สำคัญ คือ
-
การรักษาความสะอาดของร่างกาย และสิ่งของเพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย โดยควรล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และหมั่นทำความสะอาดของเล่น พื้นผิวสัมผัสด้วยสบู่หรือน้ำยากำจัดเชื้อเป็นประจำ
-
รักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ อาหารให้มีความสะอาด ไม่ให้ปนเปื้อนกับอุจจะระที่อาจมีเชื้อโรคปะปนมาได้
-
หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัดในช่วงที่มีการระบาด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด ห้างสรรพสินค้า
-
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า และใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
-
ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการเกา
-
เมื่อเด็กเป็นโรคมือเท้าปาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสควรแยกเด็กออกมากจากชุมชน รักษาตัวที่บ้านจนอาการหายเป็นปกติ ไม่ควรไปโรงเรียน หรือสถานที่แออัดต่างๆ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคมือเท้าปากสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์.2555
Enterovirus 71. World Health Organization. Accessed on June 1st, 2022
- นพ. พรเทพ สวนดอก. โรคมือเท้าปาก. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
โรคมือเท้าปาก. สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี. Accessed on June 1st, 2022
Enterovirus 71 Infection – Thai Version. Centre for Health Protection, Department of Health, the Government of the Hong Kong Special Administrative Region. Accessed on June 1st, 2022