ท้องผูกเรื้อรัง คืออาการท้องผูกที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะทำให้อุจจาระได้ลำบาก หากปล่อยไว้นาน อาจนำพามาซึ่งโรคทางระบบลำไส้ได้ เอ็กซ์ต้า พลัส จึงรวบรวมวิธีป้องกันและวิธีแก้อาการ ท้องผูกเรื้อรัง กันค่ะ
อาการ ท้องผูกเรื้อรัง (Constipation)
หมายถึง อาการที่ผู้ป่วยมีการถ่ายอุจจาระลำบาก อุจจาระมีลักษณะแข็ง หรือเป็นลำเล็กลง จำนวนความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ พบได้ทุกเพศและทุกวัย พบมากในผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาการท้องผูก หากแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการ อาจแบ่งเป็นท้องผูกเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการน้อยกว่า 3 เดือน และท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งมีอาการนานกว่า 3 เดือน
สาเหตุของการเกิดอาการ ท้องผูกเรื้อรัง
อาการท้องผูกเรื้อรัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่มักพบมากที่สุด คือ เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ที่ปัจจุบันคนมักจะบริโภคผักผลไม้น้อยลง ซึ่งทำให้ได้รับใยอาหาร หรือไฟเบอร์ไม่เพียงพอที่จะเพิ่มมวลอุจจาระในลำไส้ใหญ่และกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย
รวมถึงอีกหนึ่งสาเหตุที่มักพบคู่กันคือ การดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน ทำให้อุจจาระแห้ง แข็ง ไม่อ่อนนุ่ม ยากต่อการขับถ่าย และอาจทำให้เกิดการเจ็บปวดเวลาขับถ่าย เกิดแผลบริเวณหูรูด อาจก่อให้เกิดริดสีดวงทวารได้ นอกจากนี้สาเหตุอื่น ๆ ที่พบว่าก่อให้เกิดอาการท้องผูก เช่น การไม่ออกกำลังกาย หรือการขยับร่างกายน้อย การกลั้นไม่ยอมขับถ่ายเมื่อรู้สึกอยากถ่าย และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดที่มีแคลเซียมและอะลูมิเนียม รวมถึงอาการเจ็บป่วยบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก รวมถึงภาวะตั้งครรภ์ด้วย
การป้องกันท้องผูกและการดูแลตนเองเบื้องต้น
-
รับประทานอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์สูง เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก สับปะรด เมล็ดธัญพืช รำข้าวสาลี พร้อมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อย่างน้อย 5-2 ลิตรต่อวัน
-
การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอและเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ จะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการท้องอืดได้อีกด้วย
-
ไม่กลั้นอุจจาระ หากรู้สึกอยากถ่าย เนื่องจากอาจซ้ำเติมอาการท้องผูกให้เป็นมากขึ้น
-
ทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล ซึ่งส่งผลให้ทางเดินอาหารทำงานได้ดีตามปกติ
-
การใช้ยาระบาย โดยกลุ่มยาระบายที่มีความปลอดภัยสูง หากใช้อย่างถูกวิธี คือ กลุ่มไฟเบอร์ โดยจะช่วยในการเพิ่มปริมาณอุจจาระ ทำให้อุจจาระนุ่ม กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น แต่ต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ เหมาะกับอาการท้องผูกไม่รุนแรง ซึ่งยาระบายแต่ละชนิดจะมีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน และบางชนิดไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่อง แนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรเพื่อให้ได้รับตัวยาระบายที่เหมาะสม
ทั้งนี้หากมีอาการ ท้องผูกเรื้อรัง ร่วมกับมีลักษณะหรืออาการเตือนเหล่านี้ ได้แก่ มีอาการซีดจากขาดธาตุเหล็ก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ท้องผูกจนมีอาการของลำไส้อุดตัน (ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน) หรือท้องผูกรบกวนมาก รับประทานยาระบายแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- รศ.นพ. สุเทพ กลชาญวิทย์ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ท้องผูก (Constipation). Retrieved on October 4, 2022 from chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://thaimotility.or.th/files/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B8%81.pdf
- รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ท้องผูกและการใช้ยาระบาย. Retrieved on October 4, 2022 from https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/593/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2-%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B8%81/