กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา ประเด็นนี้อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันหรือคาดการณ์ได้ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ บทความนี้ ร้านยาเอ็กซ์ต้า พลัส จึงมีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับ การกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา อาจไม่ได้แปลว่า ‘ท้อง’ เสมอไป มาแบ่งปันกัน
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pills; Morning-After Pills) คือ ยาที่รับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้คาดการณ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิด (ถุงยางอนามัยชำรุด) เป็นต้น
โดยยาคุมฉุกเฉินมีตัวยาสำคัญคือ เลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งมีผลรบกวนกระบวนทำงานโดยป้องกันหรือชะลอการตกไข่ (ปล่อยไข่ออกจากรังไข่) หรือป้องกันการปฏิสนธิ (การรวมตัวของสเปิร์มและไข่) รวมทั้งส่งผลเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อทำให้ยากต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว
ยาคุมฉุกเฉินมีกี่รูปแบบ
ยาคุมฉุกเฉินมี 2 รูปแบบ แบ่งได้ตามปริมาณของตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล ซึ่งควรกินยาคุมฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันทันที หรือ อย่างช้าไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง
- 0.75 มิลลิกรัม (ชนิด 2 เม็ดต่อกล่อง)
เป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดครั้งเดียว ปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม จะรับประทานเพียง 1 เม็ด
- 1.5 มิลลิกรัม (ชนิด 1 เม็ดต่อกล่อง)
เป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ที่ต้องทานให้ครบ 2 เม็ด เป็นการทานเม็ดแรกหลังจากมีเพศสัมพันธ์และรับประทานเม็ดที่สองห่างจากเม็ดแรก 12 ชั่วโมง
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา เกิดจากอะไร
หลังจากที่กินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา นั้นอาจเกิดจากรอบเดือนแปรปรวนไปจากเดิม โดยรอบเดือนปกติอาจล่าช้า, มาเร็วกว่าปกติ หรือหยุดชะงักได้ นอกจากนี้ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก หรือ การออกกำลังกาย อาจส่งผลต่อรอบเดือนได้เช่นกัน
วิธีการเช็กโอกาสในการตั้งครรภ์ เมื่อกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา
เมื่อทราบว่าตนเองกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา อาจประเมินโอกาสของการตั้งครรภ์ได้จากระยะเวลาที่กินยาคุมฉุกเฉิน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ เพราะยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ตั้งครรภ์ แบ่งได้ตามกรณี ดังนี้
-
ในกรณีที่กินยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด หรือ ชนิด 2 เม็ดต่อกล่อง (เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม)
- กินคุมฉุกเฉินเม็ดแรกภายใน 24 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ ตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 85%
- กินยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ ตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75%
ดังนั้นจึงควรรับประทานยาเม็ดแรกหลังการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์
-
ในกรณีที่กินยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดครั้งเดียว หรือ ชนิด 1 เม็ดต่อกล่อง (1.5 มิลลิกรัม)
- กินยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เช่นเดียวกับการกินแยกสองครั้ง ๆ ละ 0.75 มิลลิกรัม อ้างอิงข้อมูลการวิจัยจากองค์การอนามัยโลก จึงแนะนำว่าควรกินครั้งเดียว 1.5 มิลลิกรัมไปเลย เพื่อความสะดวกและป้องกันการลืมกินยาเม็ดที่สองด้วย
-
อาเจียนหลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน
- หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง หลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
ทำอย่างไรเมื่อกินยาคุมฉุกเฉินแล้วเมนไม่มา
1. รอประมาณ 1 สัปดาห์
เป็นเรื่องปกติที่รอบประจำเดือนจะล่าช้าหรือหยุดชะงักหลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน ซึ่งอาจมาช้าหรือมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์
2. ทดสอบการตั้งครรภ์
ตรวจปัสสาวะทดสอบการตั้งครรภ์เพื่อยืนยันผล หลังการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือหลังจากการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป หากพบว่าผลขึ้นขีดเดียว สามารถยืนยันได้ว่า ไม่ตั้งครรภ์ หากขึ้น 2 ขีด หมายถึงกำลังตั้งครรภ์ โดยสามารถซื้อที่ทดสอบการตั้งครรภ์ได้จากร้านขายยา
3. ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ
หากมีความกังวลเกี่ยวกับประจำเดือนที่ขาดหายไป แนะนำให้ติดต่อรับคำปรึกษาจากผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่น่าเชื่อถือ หรือหากพบว่าตนเองมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดท้องช่วงล่าง ควรไปปรึกษาแพทย์ในการเข้ารับการประเมินเพิ่มเติม เพื่อยืนยันโอกาสในการตั้งครรภ์และหารือเกี่ยวกับทางเลือกเพิ่มเติม
ข้อควรระวังในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน เฉพาะกรณี ‘ฉุกเฉิน’ เท่านั้น การกินยาคุมฉุกเฉินในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง แต่หากมีการใช้ยาคุมฉุกเฉินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ประสิทธิภาพด้อยกว่า เมื่อเทียบกับยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก และไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน
ที่มา:
บทความยาคุมฉุกเฉิน…เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้ จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความตอบคำถามเรื่องยา จาก หน่วยคลังข้อมูลยา
มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง