อาการคัดจมูก หรือ คัดแน่นจมูก อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ..แต่รู้หรือไม่ เรื่องเล็กน้อยแบบนี้ อาจจะส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อมาได้อีกเป็นกอง
โดยแบ่งผลกระทบได้ถึง 3 ส่วน ของระบบอวัยวะภายในได้ ดังนี้
-
ผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบน
-
การรับกลิ่น – ต้องอาศัยอากาศที่เข้าในโพรงจมูก พาโมเลกุลของกลิ่นเข้ามาด้วย ดังนั้นอาการคัดจมูกที่ค่อนข้างมาก จะทำให้อากาศพากลิ่นขึ้นไปสู่ บริเวณดังกล่าวได้น้อย การรับกลิ่นผิดปกติส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลงโดยเฉพาะการรับรสชาติอาหารและความพึงพอใจเกี่ยวกับการรับกลิ่นที่ทำให้มีความสุข เช่น น้ำหอม (บางคนจึงหงุดหงิดอารมณ์ไม่ดี เวลาที่คัดจมูก) นอกจากนี้ยังทำให้เกิด อันตรายต่อเองจากการลดลงของกลไกลป้องกันอันตรายที่ไม่สามารถรับรู้ถึงกลิ่นของอาหารที่บูด เน่าเสีย แก๊สที่เป็นพิษ และควันไฟที่เกิดขึ้นได้
-
การหายใจขณะนอนหลับ – อาการคัดจมูกที่ทำให้เกิดเฉพาะเสียงกรนขณะนอนหลับ แม้จะไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วย แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตคู่ทำให้เกิดการแยกกันอยู่ จนไปถึงหย่าร้างได้ และอีกภาวะที่ค่อนข้างเป็นอันตราย คือมีการ หยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ส่งผลให้ผู้ป่วยพักผ่อนไม่พอในตอนกลางคืน รง่วงมากผิดปกติในกลางวัน (excessive daytime sleepiness) ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จนถึงขั้นสมรรถภาพทางเพศลดลง !!!(แย่จัง อันนี้ปัญหาระดับชาติเลยนะคะ) ส่วนในผู้ป่วยเด็กอาจมีมีการเรียนที่ถดถอย และปัสสาวะรดที่นอนได้ด้วย
-
การระบายของเหลวและอากาศในโพรงอากาศข้างจมูกและหูชั้นกลาง – ในภาวะที่เยื่อบุจมูกที่บวมจากอาการคัดจมูกที่เกิดจากไข้หวัดหรือภูมิแพ้จมูกอักเสบ จะทำให้รูระบายของเหลวอุดตันระบายออกมาไม่ได้ เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียจนถึงเกิดโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบตามมา นอกจากนี้อาจมีการลามไปถึงท่อที่เชื่อมระหว่างหลังโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลาง ทำให้การปรับความดันระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูกไม่ดี เกิดอาการปวดหู หูอื้อ เวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันอย่างรวดเร็วได้ เช่น เวลาขึ้นหรือลงลิฟต์เร็ว ๆ เวลาเครื่องบินขึ้นหรือลดระดับลงจอดอย่างรวดเร็ว และ เวลาดำน้ำลึก เสี่ยงทำให้เกิดภาวะน้ำขังในหู (otitis media with effusion) ตามมา
2. ผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง – เมื่อมีอากาศหายใจไม่พอ จะกระตุ้นให้เกิดการอ้าปากหายใจ ทำให้มีอุณหภูมิและ ความชื้นของอากาศที่เข้าสู่ปอด ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงฝุ่นละอองก็เล็ดลอดเข้าไปได้มากเนื่องจากไม่ได้ถูกกรองและดักจับโดยขนจมูกเยื่อเมือกภายในโพรงจมูก ทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับสมดุลและกำจัดสิ่งสกปรกที่ ส่งผลให้ระคายเคืองและอักเสบเรื้อรัง ไปจนถึงอาการกำเริบมากกว่าเดิม!!! ..โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางเดินหายใจส่วนล่างอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด (bronchial asthma) หรือผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่มีภาวะหลอดลมไวเกินโดยไม่มีอาการ (asymptomatic bronchial hyper-responsiveness)
3. ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด – เมื่ออากาศเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ ผู้ป่วยก็จะพยายามหายใจเข้าเพื่อให้ลมเข้าได้มากขึ้น ทำให้เกิดความดันเชิงลบในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เนื้อเยื่ออ่อนโดยเฉพาะที่คอหอยยุบตัวเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม ทางเดินหายใจก็จะยิ่งแคบลงไป ร่างกายก็ยิ่งปรับตัวโดยการอ้าปากเพื่อเพิ่มการดูดอากาศเข้า เป็นผลให้เกิดการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อโคนลิ้นตามมา ทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยที่ติดกับหลังโคนลิ้นตีบแคบเข้ามาอีก กลายเป็นวงจรแบบนี้ ..ซึ่งผลสุดท้ายที่ตามมา คือ อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ถ้าปล่อยให้ภาวะนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจะมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย โดยทำให้ผู้ป่วยมีอัตราเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจล้มเหลว (โดยเฉพาะซีกขวา)จากการที่มีความดันเลือดในปอดสูง (pulmonary hypertension) โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าประชากรปกติที่ไม่ได้เป็นโรคนี้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ใครจะไปคิดนะคะ ว่าเริ่มต้นแค่คัดจมูก สุดท้ายจะไปลงเอยได้รุนแรงขนาดนี้)
..อ่านมาจนถึงตอนนี้ บางคนอาจตั้งคำถามว่า “แล้วฉันมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน?” มาดูข้อมูลกันเป็นตัวเลขดีกว่าค่ะ..
จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยชาวไทย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มอาการเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นเวลานาน 3 ปี โดย คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อาการที่มีความรุนแรงมากที่สุด ซึ่งนำไปสู่การรักษา คือ อาการคัดจมูก (พบจำนวนสูงถึง 86.8% จากผู้ป่วยภูมิแพ้ทั้งหมด!)
อาการคัดแน่นจมูก ยังเป็นปัญหาที่รักษาได้ยากที่สุดของผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โดยพบว่ามีผู้ป่วย สูงกว่า 58% ที่ ยังควบคุมอาการไม่ได้ แม้จะรับการรักษามาแล้วนานถึง 1 เดือน
ปัจจุบันแพทย์และเภสัชกรจึงให้ความใส่ใจการรักษาอาการ “คัดแน่นจมูก” ให้กับผู้ป่วยภูมิแพ้เป็นพิเศษ โดยเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงตั้งแต่เริ่มการรักษา เพื่อช่วยผู้ป่วยให้รู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อนที่จะตามมาได้ด้วยค่ะ
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับ อาการคัดจมูก หรือเรื่องสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
(1) “ภาวะคัดแน่นจมูก”- เวชศาสตร์เขตเมือง 4.0. ทุนชัย ธนสัมพันธ์, ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมิทราธิราช. ปารยะ อาศนะเสน, ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
(2) V. Jaruvongvanich, et al. “Extranasal symptoms of allergic rhinitis are difficult to treat and affect quality of life”, Allergology International 65 (2016) 199-203.