10 พฤติกรรมสร้าง ‘กลิ่นปาก’ โดยไม่รู้ตัว

อาการมีกลิ่นปากเป็นอาการที่ทำลายบุคลิกภาพอันดี และแสดงถึงความไม่ใส่ใจในตัวเอง โดยบางคนไม่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปากจนเพื่อนสนิทต้องเข้ามาสะกิดอยู่บ่อยครั้ง นอกจากการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรงแล้ว ยังมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำไปโดยไม่รู้ว่าสร้างกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ให้ช่องปากด้วย เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อไปนี้

1.การไม่รับประทานอาหารเช้า ส่งผลต่อร่างกายหลายอย่าง ในเรื่องของกลิ่นปากก็มีส่วน เพราะต่อมน้ำลายไม่ได้ถูกกระตุ้นจากการเคี้ยว หรือกลืนอาหาร ทำให้ปากแห้ง และเกิดกลิ่นปากได้ แม้ว่าจะแปรงฟันก่อนออกจากบ้านก็ตาม

2.ดื่มกาแฟปริมาณมาก นอกจากจะทิ้งคราบไว้ตามซอกฟันแล้ว ยังเป็นที่มาของกลิ่นปากด้วย เพราะทำให้ปากแห้ง ดังนั้นควรลดปริมาณให้อยู่ที่วันละ 1-2 แก้ว และดื่มน้ำเปล่าตาม 1-2 แก้วต่อ 1 แก้วกาแฟ เพื่อไม่ให้ปากแห้งจนเกินไป

3.แบคทีเรียในช่องปาก มีทั้งตัวที่มีประโยชน์ และตัวที่ไม่ดี ซึ่งตัวที่ไม่ดีนี้เป็นตัวการทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น แบคทีเรียเอชไพโลไร เป็นแบคทีเรียที่สร้างกลิ่นปาก ซ่อนตัวอยู่ที่ลิ้น เพราะฉะนั้นเมื่อแปรงฟัน อย่าลืมแปรงลิ้นด้วยทุกครั้ง

4.การกินหมากฝรั่ง หากคุณเชื่อว่าหลังรับประทานอาหาร และทานหมากฝรั่งตามจะช่วยให้ สดชื่นมั่นใจในกลิ่นปากได้นั้น คงต้องดูที่ฉลากหมากฝรั่งซักนิด ถ้ามีเขียนว่าเป็นไซลิทอล หรือชูการ์-ฟรี เป็นอันใช้ได้ เพราะสารแทนความหวานอย่างไซลิทอลช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุและกลิ่นปาก

5.การไม่ใช้ไหมขัดฟัน แค่การแปรงฟัน หรือบ้วนปากด้วยน้ำยานั้นอาจไม่พอ เพราะอาหารมักติดอยู่ตามซอกฟัน ซึ่งนั่นเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เพราะฉะนั้นไม่ควรลืมใช้ไหมขัดฟันหลังอาหารอย่างสม่ำเสมอ

 6.รับประทานโปรตีนมากเกินไป ในอาหารประเภทโปรตีนจะมีสารตัวหนึ่งชื่อ ไลซีน ซึ่งเมื่อแตกตัวจะทำให้เกิดกลิ่นคาว ซึ่งกลิ่นจะออกมาทางเหงื่อ รวมถึงกลิ่นปากด้วย

 7.รับประทานยาเป็นประจำ ยาบางชนิดทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น ยารักษาผู้ป่วยจิตเวช หรือยารักษาพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือการทานหมากฝรั่งที่ผสมไซลิทอล หรือการจิบน้ำตลอดวันไม่ให้ปากแห้งก็สามารถลดกลิ่นปากได้

 8.ดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะพวกที่ดื่มทุกวัน ดื่มจนติด จะมีกลิ่นปากมาก เพราะแอลกอฮอล์ มีผลต่อต่อมน้ำลาย ทำให้ปากแห้งและมีกลิ่นได้ง่าย

 9.กินผักน้อย ในผักและผลไม้เป็นอาหารที่เข้าไปช่วยลดกลิ่นปากได้ เพราะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลายระหว่างเคี้ยว และการย่อยอาหาร จึงช่วยขจัดแบคทีเรียในช่องปากได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น จึงไม่มีอาหารหรือสารพิษตกค้างที่ทำให้เกิด กลิ่นในทางเดินอาหาร หรือช่องปาก

 10.โรคระบบทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารส่วนบน เช่น ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิล หรือกรดไหลย้อน ซึ่งโรคเหล่านี้พากลิ่นขึ้นมาจากกระเพาะอาหารด้วย

 

ลองมาเช็คดูนะคะว่าเรานั้นมีกลิ่นปากจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้หรือไม่ เพราะบางครั้งลมหายใจที่สะอาด ก็จะช่วยให้คนข้างๆ กล้าที่จะใกล้ชิดคุณมากขึ้น รวมถึงสุขภาพร่างกายก็ดีขึ้นด้วยค่ะ