อาหารทางการแพทย์ เหมาะกับใคร???


อาหารทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้น เพื่อนำมาใช้กับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติเพียงพอ หรือร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการสารอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ

องค์การอาหารและยา แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดคุณสมบัติของอาหารทางการแพทย์ไว้ ดังนี้

  1. สามารถดื่ม/รับประทานทางปาก หรือให้ทางสายยางได้
  2. มีการระบุการใช้งานเฉพาะโรคอย่างชัดเจน
  3. ต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

ปัจจุบันอาหารทางการแพทย์มีหลากหลายชนิดทั้งสำหรับ ผู้ใหญ่ เด็กและทารก ในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็น

  1. อาหารทางการแพทย์ที่ให้สารอาหารครบถ้วน (Nutritionally complete enteral formula)
  2. อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (Disease-specific formula)

 

  1. อาหารทางการแพทย์ที่ให้สารอาหารครบถ้วน (Nutritionally complete enteral formula)

คือ การนำอาหารทั้ง 5 หมู่ มาทำในรูปแบบผง ชงทานง่าย หรือสามารถให้ทางสายยางให้อาหาร โดยมีสัดส่วนของสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ที่เหมาะสม ครบถ้วน เหมาะสำหรับผู้ที่ขาดสารอาหารจากสาเหตุต่างๆ เช่น รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยระยะพักฟื้น ผู้สูงอายุ

  1. อาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (Disease-specific formula)

คือ อาหารที่คิดค้นสัดส่วนของสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ให้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง ฯลฯ มักมีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีปัญหาทางสุขภาพ การใช้อาหารทางการแพทย์จึงเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการได้รับพลังงานและสารอาหารให้กับผู้ที่มีปัญหาในกลุ่มนี้ได้ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่

  • เบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง การรักษาที่สำคัญคือ การควบคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกาย อาหารทางการแพทย์ที่เหมาะกับผู้ที่เป็นเบาหวาน จะมีสัดส่วนของคาร์โบไฮเดรตต่ำกว่าอาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป และเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงมีใยอาหารที่มากกว่าสูตรทั่วไป
  • อาหารทางการแพทย์ สำหรับผู้ที่ต้องการโปรตีนสูง อาหารทางการแพทย์ในหมวดนี้ จะมีปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าสูตรทั่วไปมาก และมีการเติมสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกัน (immunonutrients) และช่วยลดการอักเสบ (กรดไขมันโอเมก้าสาม) จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความต้องการโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น โรคมะเร็ง ผู้ป่วยพักฟื้นจากการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยแผลไฟไหม้ บาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลัน ผู้ป่วยวิกฤต (เช่น ผู้ป่วย ICU) เป็นต้น
  • อาหารทางการแพทย์เฉพาะผู้ป่วยด้วยโรคตับ ใช้สำหรับเสริมปริมาณสารอาหารในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับเสื่อมสมรรถภาพ มีการจำกัดปริมาณไขมัน เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับมักมีความผิดปกติในการย่อยไขมันในอาหาร และมีปริมาณโปรตีนสูง โดยที่โปรตีนส่วนหนึ่งเป็นกรดอะมิโน ที่สามารถถูกนำไปใช้โดยกล้ามเนื้อได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ตับ
  • อาหารทางการแพทย์สำหรับโรคไตเรื้อรัง จะมีการจำกัดปริมาณแร่ธาตุ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ที่อาจมีการคั่งในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ และมีปริมาณโปรตีนสูงเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีความเข้มข้นของพลังงานสูง จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือด ที่รับประทานอาหารได้น้อย
  • อาหารทางการแพทย์สำหรับเด็กที่มีปัญหาในการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร มีกรดไขมันความยาวปานกลางที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่ายกว่ากรดไขมันสายยาวทั่วไป จึงทำให้การย่อยและการดูดซึมทำได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาการย่อยและการดูดซึมอาหาร

 

กล่าวโดยสรุป อาหารทางการแพทย์ มีหลากหลายสูตร การเลือกให้เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ก่อนการใช้อาหารทางการแพทย์จึงควรปรึกษาผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักโภชนาการ หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเลือกใช้อาหารทางการแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  1. ฐนิต วินิจจะกูลแนวทางในการเลือกอาหารเสริมทางการแพทย์. Healthathome web site. 2562. แหล่งที่มา: https://healthathome.in.th/blog. ค้นเมื่อ 20 มีนาคม, 2562.
  2. พันโทหญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช. Oral Nutritional Supplements (ONS) Fights Against Malnutrition. Medical Focus. 2560; 03.

ที่มา healthathome