ยาแก้ท้องเสีย ตัวช่วยบรรเทาอาการถ่ายเหลว หรือ ท้องร่วง ซึ่งสาเหตุของอาการสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร การติดเชื้อ ฯลฯ แม้ว่า ‘ท้องเสีย’ อาจเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากไม่ดูแลให้ดีขึ้น อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ไตวาย และอวัยวะถูกทำลายได้ การใช้ยาแก้ท้องเสีย จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้อาการทุเลาลงได้
บทความนี้ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส มีข้อมูลเกี่ยวกับ ยาแก้ท้องเสีย ควรเลือกทานแบบไหน ถึงจะตรงอาการและปลอดภัย มาแชร์กัน
อาการท้องเสีย คืออะไร
ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง (Diarrhea) เป็นอาการแสดงเกี่ยวข้องกับอุจจาระเหลวเป็นน้ำ อาจมีอาการเพียงอย่างเดียว หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ฯลฯ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และมักจะหายไปเองภายใน 1 – 3 วัน ถ้าไม่มีโรคอื่นแทรกแซง
ทั้งนี้หากมีอาการท้องเสียกินเวลานานเกิน 2 – 3 วันในสัปดาห์ มักบ่งชี้ว่ามีปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือความผิดปกติที่ร้ายแรง เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง, โรคลำไส้อักเสบ (IBD) เป็นต้น
สาเหตุทั่วไปของอาการท้องเสีย
-
อาหารเป็นพิษ
จากการรับประทานอาหาร หรือ น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ทำให้อาเจียนรุนแรง หรือถ่ายมากผิดปกติ (มากกว่า 8-10 ครั้งต่อวัน)
-
ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะ
เนื่องจากยาปฏิชีวนะจะเข้าไปรบกวน หรือ เปลี่ยนแปลงสมดุลของแบคทีเรียธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในลำไส้ โดยมักดีขึ้นและหายได้เองหลังหยุดใช้ยาปฏิชีวนะ
-
แพ้อาหาร
การทานผลิตภัณฑ์จากนม ที่ก่อให้เกิดการแพ้แล็กโทส (Lactose) ซึ่งเป็นน้ำตาลในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว แพะ ฯลฯ จะส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยอาหารทำให้เกิดการท้องเสียได้
-
การติดเชื้อ
สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัส เช่น โนโรไวรัส โรตาไวรัส หรือไวรัสกระเพาะและลำไส้อักเสบ
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ Salmonella หรือ Campylobacter
- การติดเชื้อปรสิต เช่น Giardiasis หรือ Cryptosporidiosis
ยาแก้ท้องเสีย ทำงานอย่างไร
ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhoeal) มีฤทธิ์ช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร เพื่อขับออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นการรักษาด้วยการควบคุมการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร และเพิ่มการดูดซึมของเหลวในลำไส้ โดยมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสาเหตุ สามารถหาซื้อได้ตามร้านยา Over-the-counter (OTC) และยาบางชนิดจะจำหน่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
แก้ท้องเสียแบบไหน ถึงจะตรงอาการ
-
ยาแก้ท้องเสีย รูปแบบยาผงถ่าน (Activated Charcoal)
เป็นตัวช่วยในการบรรเทาอาการถ่ายเหลวหรือท้องเสียจากภาวะอาหารเป็นพิษ โดยดูดซับสารพิษที่เป็นต้นตอของอาการท้องเสีย มีส่วนช่วยลดอาการแน่นท้อง และทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง
วิธีใช้
- กิน 2 เม็ดทันทีที่มีอาการ
- กินซ้ำได้ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ตามความรุนแรงของอาการ
- หากถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำให้กินยาให้ถี่ขึ้น
- ไม่ควรใช้เกิน 16 เม็ดต่อวัน
ข้อควรระวัง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน
- ผู้ที่มีแผล หรือ เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้
- อยู่ในภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง
-
ยาแก้ท้องเสีย รูปแบบผงเกลือแร่โออาร์เอส (Oral Rehydration Salt, ORS)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมักมีอาการขาดน้ำ (Dehydration) คือ มีอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย ปากแห้งตาแห้ง ยาชนิดนี้จะช่วยชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากเมื่อมีอาการท้องเสียจะสูญเสียน้ำซึ่งประกอบด้วยเกลือแร่ที่จำเป็นในการทำงานของร่างกาย ไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระเป็นจำนวนมาก การบรรเทาด้วยผงเกลือแร่จึงสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
วิธีใช้
- เตรียมน้ำเปล่าสำหรับดื่มที่สะอาดและมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน
- ชง 1 ซอง ผสมน้ำสะอาด ตามปริมาณที่ระบุไว้ที่ซองยา หากผสมด้วยปริมาตรที่ผิดไปจากที่ระบุอาจทำให้ได้น้ำเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นไม่เหมาะสม
- คนหรือเขย่าจนสังเกตว่าไม่มีผงยาเหลืออยู่
- ดื่มจนหมด หรือค่อย ๆ จิบ เมื่อมีอาการคลื่นไส้
ข้อควรระวัง
- ควรผสมผงเกลือแร่โออาร์เอสครั้งละซอง ไม่ควรเก็บน้ำเกลือแร่ที่ดื่มไม่หมดไว้เกิน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
- ห้ามผสมโออาร์เอสกับเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่า
-
ยาแก้ท้องเสีย รูปแบบกลุ่มยาหยุดถ่าย เช่น โลเพอราไมด์ (Loperamide) หรือ อิโมเดียม (Imodium)
ใช้ในกรณีที่ใช้ยาทั้ง 2 ชนิดข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น (ยาผงถ่าน และ ผงเกลือแร่โออาร์เอส)
วิธีใช้
- กิน 2 เม็ดในครั้งแรก
- กินซ้ำครั้งละ 1 เม็ด ทุกครั้งที่ถ่ายเหลว
- ไม่ควรทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน
ข้อควรระวัง
- ห้ามใช้ ในกรณีที่มีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือด
ประโยชน์ของ ยาแก้ท้องเสีย
-
ยาแก้ท้องเสีย สามารถบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว
ยาแก้ท้องเสียจะทำงานโดยชะลอและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ และทำให้อุจจาระเป็นน้ำน้อยลง
-
ยาแก้ท้องเสีย ช่วยลดความถี่ในการอุจจาระ
เป็นยาที่ใช้ในการรักษาอาการท้องร่วงเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งช่วยลดความถี่และความเร่งด่วนของการถ่ายอุจจาระ เนื่องจากในส่วนของยาแก้ท้องเสียที่ประกอบด้วยโลเพอราไมด์ (อิโมเดียม) ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ช้าลง ซึ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมของเหลวได้มากขึ้น
-
ยาแก้ท้องเสีย ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้อง
ยาแก้ท้องเสียจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดตะคริวที่ท้องส่วนล่างที่เนื่องมาจากการเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
ใครบ้างที่ไม่ควรทาน ยาแก้ท้องเสีย
ยาแก้ท้องเสียที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ (OTC) อาจเป็นอันตรายได้ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้
- ทารก
- เด็กวัยหัดเดิน
- เด็กเล็ก
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ท้องเสียประเภท OTC หากมีเลือดปนในอุจจาระ มีไข้ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ควรมีการตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่ายาที่ใช้นั้น ไม่มีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ หากไม่แน่ใจสามารถตรวจสอบกับเภสัชกร หรือ แพทย์ รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับคำปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนใช้ยา
ทานยาแก้ท้องเสียแล้วไม่ดีขึ้น หรืออาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
-
กรณีของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่
- พบว่ามีอาการท้องร่วงเกิน 2 วัน โดยไม่ดีขึ้น
- มีภาวะขาดน้ำ
- ปวดท้องหรือทวารหนักอย่างรุนแรง
- อุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ
- มีไข้สูงกว่า 39 องศา
-
กรณีของผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
- มีภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อาการท้องเสียสามารถนำไปสู่การขาดน้ำได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จาก ปากและลิ้นแห้ง, ร้องไห้ไม่มีน้ำตา, ง่วงนอน หงุดหงิดง่าย, ผ้าอ้อมไม่มีปัสสาวะ 3 ชั่วโมงขึ้นไป
- มีไข้สูงกว่า 39 องศา
- มีอุจจาระเป็นเลือดหรือสีดำ
สรุป
ยาแก้ท้องเสียเป็นยาที่ใช้เพื่อชะลอ หรือ หยุดอาการท้องเสีย (อุจจาระเหลว) ที่หาซื้อได้ตามร้านยา (OTC) และยาบางชนิดจะจำหน่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ยาแก้ท้องเสียแต่ละชนิดจะช่วยบรรเทาอาการอุจจาระเหลวให้ดีขึ้น ทั้งนี้อาการท้องเสีย หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษาอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การขาดน้ำอย่างรุนแรง มีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน การใช้ยาแก้ท้องเสียจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสภาพร่างกาย ในกรณีที่มีอาการท้องเสียนานเกิน 2 – 3 วัน หรือเป็นซ้ำบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของปัญหาของโรคอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์
อาการท้องเสีย ท้องร่วง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่ม 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้ารับยาได้ แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ตามร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำหรับผู้ที่มี สิทธิบัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพ 30 บาท ก็สามารถขอเข้ารับสิทธิ์ได้แล้วที่ ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส กว่า 400 สาขา ทั่วประเทศ
ที่มา
Diarrhea จาก Cleveland Clinic
When to see a doctor Diarrhea จาก Mayo Clinic
Who should not take diarrhea medications? จาก Medical News Today
อันตรายร้ายแรงของอาหารเป็นพิษ จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ยา “คาร์บอน” จาก กรมสารบรรณทหารบก ในกองบัญชาการกองทัพบก
อาการท้องเสียที่สัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะ จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ท้องเสีย ถ่ายเหลว ใช้ยาอะไรได้บ้าง จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
น้ำเกลือแร่สำหรับท้องเสีย: เลือกที่ใช่ ใช้ถูกต้อง จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
How do antidiarrheals work จาก RxList
อัปเดตและติดตามสาระสุขภาพดี ๆ จาก ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ได้ที่
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ