การปฏิบัติตัวและการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงในคุณแม่ตั้งครรภ์

ในคุณแม่ตั้งครรภ์ มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลต่อกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือลูกน้อยในครรภ์

แต่ในบางอาการข้างเคียงจากการตั้งครรภ์ หรืออาการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยา ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการใช้ยาไม่ได้ ดังนั้นในการใช้ยาในการบรรเทาอาการต่างๆของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ต้องคำนึงถึงแม่และทารกเป็นสำคัญ และใช้การปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวต่างๆควบคู่กันเพื่อช่วยในการบรรเทาอาการ ซึ่งอาการต่างๆที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ พร้อมทั้งการปฏิบัติตัว มีดังนี้

  1. อาการคลื่นไส้อาเจียน : เป็นอาการที่พบได้ส่วนใหญ่ในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และสามารถค่อยๆหายไปเองได้ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก อาจส่งผลต่อการรับประทานอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลง ทารกขาดสารอาหารได้ โดยเบื้องต้นแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยวิธีดังต่อไปนี้
    • หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะกลิ่นหรืออาหารบางอย่าง เช่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นอาหาร การรับประทานอาหารรสจัด เป็นต้น
    • พยายามดื่มน้ำมากๆ ในตอนเช้า
    • รับประทานอาหารมื้อละน้อยๆ แต่รับประทานจำนวนมื้อให้บ่อยขึ้น รับประทานอาหารที่คาร์โบไฮเดรตสูง จะช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้
    • การดื่มน้ำขิง หรืออาหารที่ทำจากขิง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในหญิงตั้งครรภ์ได้

แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น วิตามินบี 6, Dimenhydrinate หรือ Diphenhydramine  เป็นต้น

 

  1. อาการแสบในยอดอก และอาหารไม่ย่อย : มักพบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุอาจจะเนื่องมาจากหูดรูดส่วนล่างของหลอดอาหารมีการคลายตัวมากขึ้น หรือเนื่องจากมดลูกมีการขยายตัวขึ้นกดทับและเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนขึ้นมาและระคายเคืองหลอดอาหารได้

อาการแสบร้อนยอดอก สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาลดกรด (antacid) ที่มีส่วนผสมของอลูมินั่มและแมกนีเซียม โดยมีทั้งในรูปแบบยาเม็ด และยาน้ำแขวนตะกอน หรือหากมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด สามารถใช้ยา Simethicone เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวได้

สำหรับการปฏิบัติตัว แนะนำหลีกเลี่ยงหรืองดการรับประทานอาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง เครื่องเทศ ดื่มสุรา ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือนอนราบ ให้นอนยกหมอนสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในเวลาก่อนนอน

  1. อาการท้องผูก พบบ่อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยแนะนำการปฏิบัติตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้
  • รับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพราะอาหารพวกเส้นใยจะมีการดูดซับน้ำได้มาก ทำให้อุจจาระนิ่มและทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น (แต่ควรระวังผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง)
  • ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 10-12 แก้วต่อวัน (น้ำลูกพรุนช่วยเป็นยาระบายได้)
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็วๆ ประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง และจำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวของลำไส้ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ยาระบายที่สามารถใช้ได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย มี 2 กลุ่ม หลักๆคือ

กลุ่มที่ออกฤทธิ์เพิ่มกากอาหาร เช่น ไซเลียม ซีด ฮัสค์, เมทิล เซลูโลส ยากลุ่มนี้มีความปลอดภัยในการใช้สูง เนื่องจากไม่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร ช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบผง โดยวิธีการรับประทานคือผสมกับน้ำให้เข้ากันและดื่มก่อนนอน แต่ต้องแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากๆ หลังจากการรับประทานยากลุ่มนี้ เพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้จากการใช้ยา และกลุ่มที่ทำให้อุจจาระนิ่มลง เช่น lactulose โดยทำให้อุจจาระนิ่มลง ถ่ายง่ายขึ้น รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 15 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง

 

ทั้งนี้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ การใช้ยาเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และทารกเป็นสำคัญ อาการข้างเคียงต่างๆที่พบ ควรใช้การปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวก่อน แต่หากอากาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยา ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนได้รับยาค่ะ

 

Ref: นันทวรรณ กิติกรรณากรณ์. การใช้ยาในสตรีมีครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร. เอกสารประกอบการเรียนวิชาเภสัชบำบัด 1. หน้า 10-15.

ที่มา เอกสารประกอบการเรียนวิชาเภสัช