กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงในยามนี้…ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ที่เค้าว่ากันว่าเล็กมากขนาด 1 ใน 25 ของเส้นผม มันจึงแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายไปทำลายเซลล์ต่างๆได้มากมาย โดยเจ้าฝุ่นละอองจิ๋ว ขนาด 2.5 ไมครอนนี้ ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นนี้เข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด กระจายไปส่วนต่างๆทั่วร่างกาย เหนี่ยวนำให้เกิดอนุมูลอิสระ และภาวะการอักเสบขึ้นในร่างกาย
ทั้งยัง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืดเรื้อรัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
วิธีการป้องกันเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้าย PM 2.5
คือ การอยู่ภายในอาคารบ้านเรือน บางสถานที่อาจมีเครื่องกรองอากาศเป็นตัวช่วย ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ไปในที่กลางแจ้งก็ควรใส่หน้ากากกรองฝุ่น เช่น N 95 และสวมแว่นตา แต่งกายให้มิดชิด เพื่อลดการสัมผัสหรือได้รับฝุ่น และควรงดการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬากลางแจ้งต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัย พบว่าสารอาหารบางชนิด มีคุณสมบัติช่วยต้านความเป็นพิษของฝุ่นนี้ได้ ได้แก่…
วิตามิน A และเบต้า-แคโรทีน
พบมากแครอท ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง มันเทศ มันหวาน มะม่วง มะละกอ ฯลฯ มีส่วนช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดให้ดีขึ้น ดังนั้น ช่วงนี้ควรรับประทานเมนูเหล่านี้บ่อยหน่อย เช่น แกงจืดตำลึง ผัดผักบุ้งไฟแดง ฟักทองผัดไข่ แครอทลวกจิ้มน้ำพริก และอาหารว่างอาจเป็น มะละกอ มะม่วง มันเทศ มันหวาน ที่อุดมไปด้วยวิตามิน A ก็จะช่วยส่งเสริมระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย พร้อมต้านฤทธิ์พิษฝุ่นจิ๋ว
วิตามิน C และวิตามิน E
พบมากผลไม้และผักใบเขียวต่าง ๆ ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และลดภาวะการอักเสบที่อาจเกิดจากฝุ่นจิ๋วนี้ได้ ดังนั้นช่วงนี้ต้องเน้นรับประทานพืชผักผลไม้ให้เพียงพอ วันละ 400 กรัม หรือประมาณ 5-7 กำมือ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานวิตามิน C เสริมวันละ 500 มก. ก็ช่วยลดระดับอนุมูลอิสระในกลุ่มคนที่อยู่อาศัยในเขตที่มีมลพิษทางอากาศได้
โอเมก้า-3
พบมากในปลาต่าง ๆ มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่อาศัยในแหล่งที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง พบว่าการได้รับน้ำมันปลา 2 กรัม/วัน ช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพของฝุ่นจิ๋วนี้ได้ ดังนั้น การรับประทานปลาเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเล หรือปลาน้ำจืด เช่น ปลาทู ปลาดุก ปลาสวาย ปลาช่อน ฯลฯ ก็อาจมีส่วนช่วยดูแลสุขภาพจากผลกระทบของฝุ่นได้เช่นกัน
ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane)
พบมากในบร๊อคโคลี และผักตระกลูกะหล่ำต่าง ๆ มีคุณสมบัติโดดเด่น ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษและต้านมะเร็งได้ มีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ พบว่าการได้รับสารซัลโฟราเฟนจากบร๊อคโคลี อาจช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพของเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้ได้
ถึงแม้ว่าข้อมูลการศึกษาวิจัยเรื่องสารอาหารกับฝุ่น PM 2.5 ยังไม่ได้มีมากนัก แต่ก็พอจะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารอาหารต่าง ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นนั้น มีส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบการกำจัดสารพิษของร่างกาย นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สวมแว่น ใส่หน้ากาก เมื่อออกภายนอกอาคารบ้านเรือนไปในที่กลางแจ้ง ก็จะเป็นเกราะกำบังช่วยป้องกัน หรือลดผลกระทบจากมลพิษร้ายของเจ้าฝุ่นละอองจิ๋วนี้ได้
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่องใยอาหาร หรือสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Péter S, Holguin F, Wood LG, Clougherty JE , Raederstorff D, Antal M, Weber P, Eggersdorfer M. Nutritional Solutions to Reduce Risks of Negative Health Impacts of Air Pollution. Nutrients. 2015; 7(12): 10398–10416.
- Whyand T, Hurst JR, Beckles M, Caplin ME. Pollution and respiratory disease: can diet or supplements help? A review. Respir Res. 2018; 19: 79.
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง