โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนเสียชีวิต ข้อมูลจาก WHO พบว่าในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจาก โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั่วโลกปีละ 17.9 ล้านคนเทียบเป็น 32% จากการเสียชีวิตทั้งหมด
ส่วนประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ ขาดหลอดเลือดในปี 2562 อยู่ที่ 43.7 คนต่อประชาชน 100,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 29.9 คน
โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรคหัวใจ มีหลากหลายชนิดซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นต้น หนึ่งในสาเหตุหลักของโรคหัวใจ คือการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจจากลิ่มเลือด ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจตายนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ได้แก่
-
การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
-
การไม่ออกกำลังกาย
-
การสูบบุหรี่
-
การดื่มแอลกอฮอล์
-
โรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
-
ความเครียด
-
พันธุกรรม
เพื่อเป็นการป้องกันการเกิด โรคหัวใจ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงสำคัญมากโดยใช้หลักการดูแลสุขภาพองค์รวม ที่ประกอบด้วย 4 อ ดังนี้
อาหาร
การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นสิ่งที่สำคัญในการป้องกันตัวเองจากการเป็นโรคหัวใจ โดยควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ในแต่ละมื้อมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม
-
อาหารแต่ละมื้อมีสัดส่วนของผัก: โปรตีน: คาร์โบไฮเดรต อยู่ที่ 2:1:1 ตามลำดับ
-
เลือกรับประทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวันในปริมาณที่พอเหมาะ
-
เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดตรเชิงซ้อน ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ทำให้ไม่หิวง่าย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
-
จำกัดปริมาณโซเดียม ให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
-
จำกัดน้ำตาลให้ไม่เกิน 24 กรัมต่อวัน (ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ) รวมถึงน้ำตาลจากเครื่องดื่มต่างๆ
-
ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
-
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (BMI 18-23) เพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วน อีกหนี่งปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะทำให้การทำงานของหัวใจเป็นปกติป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยสามารถแบ่งการออกกำลังกายเป็น 5 วัน วันละ 30 นาที หรือถ้ามีเวลามากขึ้น ก็อาจแบ่งเป็นครั้งละ 50 นาทีสัปดาห์ละ 3 วันเป็นอย่างน้อยก็ได้ ซึ่งการออกกำลังกายนอกจากจะทำให้หัวใจแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอ้วน สาเหตุของโรคหัวใจได้อีกด้วย
อากาศ
การอยู่ในที่ที่อากาศดี ถ่ายเทสะดวก ก็ทำให้มีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ ทำให้ร่างกายมีภาวะทางจมูก ผื่นผิวหนัง คันตา รวมถึงในระยะยาวยังทำให้เกิดโรคมะเร็งทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ยังทำให้สุขภาพจิตเสียเพราะร่างกายไม่แข็งแรง เสริมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็น โรคหัวใจ
อารมณ์
อารมณ์ที่ดี ส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทในร่างกาย ยับยั้งการหลั่ง cortisol สารในร่างกายที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด การดูแลภาวะอารมณ์ของตัวเองให้สดใส รู้เท่าทันความโกรธและสามารถจัดการภาวะเครียดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยป้องกันได้
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับสุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Cardiovascular diseases (CVDs). World Health Organization. 11 Jun 2021
- สถิติสาธารณสุข พ.ศ. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุช