ฝนตกเมื่อไรน้ำขังก็มา น้ำที่ขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ดีมาก ทำให้เราพบว่าปริมาณยุงมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ของปียุงที่พบส่วนมาเป็นยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) ที่กัดคนแล้วนำเลือดไปสร้างไข่ เพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ เมื่อยุงกัดจะทำให้ปล่อยน้ำลายออกมาบนผิวหนัง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดอาการคันและตุ่มนูนแดง ในคนที่ แพ้ยุง แพ้น้ำลายยุง อาจมีอาการอื่นๆ เช่น ผื่นแดง บวม เจ็บ มีตุ่มน้ำใส รอยดำและอาจมีไข้ได้ซึ่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า Skeeter Syndrome
การปฏิบัติตัวเมื่อถูกยุงกัด เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการ แพ้ยุง ที่เกิดขึ้น
-
หลังจากถูกยุงกัด ควรล้างทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัด ด้วยน้ำและสบู่ เพื่อกำจัดน้ำลายยุง
-
ประคบบริเวณที่ถูกกัด ด้วยผ้าเย็นหรือน้ำแข็ง เพื่อลดอาการคันและบวม
-
ทายาที่มีส่วนผสมของ menthol ที่ให้ความเย็น สามารถบรรเทาอาการคันได้ แต่ควรระวังการใช้ menthol ความเข้มข้นที่สูง กับผิวหนังที่บอบบาง เช่น ผิวเด็ก ผิวหน้า เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองผิวหนัง หรือเลือกทา calamine lotion เพื่อบรรเทาอาการคัน
-
หากเป็นผื่นบริเวณกว้าง คันมาก หรือมีอาการอักเสบของผิวหนัง แนะนำปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ เพื่อให้แนะนำยาที่เหมาะสมในการรักษา เช่น ยากินแก้แพ้ ยาทาเพื่อลดอาการอักเสบของผิวหนัง
-
หากมีไข้ สามารถรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล (ในคนที่ไม่แพ้ยานี้) และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งเมื่อต้องการใช้ยาลดไข้ตัวอื่น
การป้องกันยุงกัด
นอกจากอาการผื่น คัน แพ้ยุง ตุ่มนูนแดงแล้ว ยุงยังเป็นพาหะนำโรค ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายอีกมากมาย เช่น โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย โรคชิคุนกุนยา โรคซิก้าหรือโรคเท้าช้าง เป็นต้น ซึ่งการป้องกันไม่ให้ยุงกัดเป็นเรื่องที่สำคัญมากและควรทำอย่างแพร่หลาย โดยมีแนวทางดังนี้
-
หลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงชุม และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ภาชนะที่มีน้ำขัง
-
ใส่เสื้อแขนยาว ขายาวปกปิดผิวหนัง ไม่ให้ยุงกัด
-
ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันยุง เช่น มุ้งลวด มุ้ง เป็นต้น
-
ใช้ยากันยุง (insect repellants) ที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่ใช้ทาผิวหนังโดยตรงและชนิดที่วางไว้ในบริเวณใกล้ๆ เพื่อไล่ยุง เช่น ยาจุดกันยุง
โดยสารประกอบในยากันยุงที่นิยมใช้มีดังนี้
-
DEET (N,N-diethyl-3-methylbenzamide) ความเข้มข้นที่แนะนำคือ 6-25% DEET ที่สามารถปกป้องได้ยาวนาน 2-6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการทาผิวหนังบริเวณใกล้ดวงตา แผลเปิดเพื่อลดการระคายเคือง
-
ตะไคร้หอม (Citronella oil) สารสกัดจากธรรมชาติ ใช้ทาผิวหนัง หรือวางไว้ใกล้ๆ เพื่อไล่ยุงได้ แต่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ค่อนข้างสั้น ประมาณ 20-30 นาที จึงต้องทาซ้ำบ่อยๆ
-
น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) สารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ไล่ยุงได้ประมาณ 2-5 ชั่วโมง
-
Permethrin ความเข้มข้น 5% ใช้พ่นเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ เพื่อไล่ยุง
-
Picaridin ทาผิวหนังเพื่อไล่ยุง มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนังน้อย เหมาะสำหรับผิวที่แพ้ง่าย
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
- Mosquito Bite Symptoms and Treatment. CDC. Retrieved from https://www.cdc.gov/mosquitoes/mosquito-bites/symptoms.html accessed on May 10, 2022
- ผศ.พญ. นฤมล ศิลปอาชา. ผื่นแพ้ยุง: รักษา ป้องกันอย่างไร?. Siriraj E-Public Library, Faculty of Medicine Siriraj Hospital. 2560. August 21. Retrieved from https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=944 accessed on May 10, 2022
- Take a bite out of mosquito stings. American Academy of Allergy Asthma & Immunology. 2020. September 28. Retrieved from https://www.aaaai.org/Tools-for-the-Public/Conditions-Library/Allergies/taking-a-bite-out-of-mosquitoes accessed on May 10, 2022
- Mosquito and Diseases. CDC. Retrieved from https://www.cdc.gov/mosquitoes/about/diseases.html accessed on May 10, 2022
- Karen Gill, Jon Johnson. What to know about skeeter syndrome. Medical News Today. 2019. June 6. Retrieved from https://www.medicalnewstoday.com/articles/325405 accessed on May 10, 2022