แผลกดทับ ป้องกันไว้ง่ายกว่ารักษา

แผลกดทับคืออะไร ?

แผลกดทับ คือ แผลบริเวณผิวหนังที่เกิดขึ้นจากการถูกกดเป็นเวลานาน ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงได้น้อยกว่าปกติ ผิวหนังจะขาดอาหารและออกซิเจนจนทำให้เนื้อเยื่อตายเกิดเป็นแผลในที่สุด บริเวณที่เกิดแผลกดทับได้บ่อย ได้แก่ บริเวณที่มีหนังหุ้มกระดูก ตามปุ่มกระดูก โดยผู้ป่วยที่นอนหงายเป็นเวลานานมักพบแผลกดทับบริเวณกระดูกส้นเท้า กระดูกก้นกบ ข้อศอก สะบัก ส่วนผู้ป่วยที่นอนตะแคงท่าเดียวนานๆ จะพบแผลกดทับที่ตาตุ่ม สันตะโพก ต้นแขน และหู ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก ซ้ำร้ายหากแผลติดเชื้อก็จะยิ่งทำให้แผลกดทับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

แผลกดทับมักเกิดกับใคร ?

1. ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวได้ช้า

2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ หรือโรคที่ทำให้แขนขาชาหรืออ่อนแรง ขยับเคลื่อนไหวเองลำบาก

3. ผู้ป่วยกระดูกหักที่ต้องนอนท่าเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานาน

 ป้องกันแผลกดทับอย่างไร ?

1. ใช้หมอนหรือผ้านุ่มรองบริเวณที่กดทับ เพื่อป้องกันการเสียดสี

2. หมั่นพลิกตะแคงตัว เปลี่ยนท่านอนทุกๆ 2 ชั่วโมง หากมีการเคลื่อนย้ายตัวควรใช้ผ้ารองแทนการลากตัวไปบนเตียงเพื่อลดการเสียดสี

3. ดูแลผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ระวังการอับชื้นหรือแห้งตึงผิวจนเกินไป

4. ดูแลที่นอน หมอน ผ้ารองปูให้สะอาด แห้ง อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น

5. หมั่นขยับแขนขา ข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย ก็จะช่วยเรื่องการไหลเวียนของเลือดและลดการถูกดทับต่อเนื่องของผิวหนังได้

แผลกดทับป้องกันได้ง่ายกว่าการรักษา แต่หากปฎิบัติตามคำเบื้องต้นแล้ว ผิวหนังยังแดงช้ำมากขึ้นหรือเปิดเป็นแผลลึก มีหนองไหล มีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการปวดมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป