ปรับสมดุลร่างกายด้วยอาหารตามธาตุเจ้าเรือน

สำรวจธาตุเจ้าเรือนด้วยตัวเอง

การตรวจธาตุเจ้าเรือนโดยทั่วไปนั้นสามารถทำได้ทั้งการคำนวนวัน เดือน ปีเกิดและการวิเคราะห์จาก‘ลักษณะ’ ของแต่ละบุคคล ซึ่งวันนี้เราจะมาสำรวจธาตุเจ้าเรือนตามหลักของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นการสำรวจธาตุเจ้าเรือนตามลักษณะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ธาตุ ได้แก่ ปิตตะ(ธาตุไฟ)  วาตะ(ธาตุลม)  เสมหะ(ธาตุน้ำและธาตุดิน) โดยที่แต่คนอาจมีการผสมของลักษณะเด่นมากกว่า 1 ธาตุได้

วิเคราะห์ธาตุเจ้าเรือนด้วยตัวเองจากตารางทดสอบด้านล่างนี้ โดยการให้เลือกข้อที่ตรงกับลักษณะของตัวเองมากที่สุด หลักจากเลือกครบทุกข้อให้รวบรวมคะแนนรวมในแต่ละช่อง ผลรวมช่องใดมากที่สุด นั่นคือธาตุเจ้าเรือนหลักของเรา

เมื่อเรารู้แล้วว่าตนเองมีธาตุเจ้าเรือนอะไร ปิตตะ วาตะ หรือ เสมหะ จะได้นำไปสู่การดูแลรักษาสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวเองต่อไป

วาตะ (ธาตุลม)
ลักษณะ : รูปร่างผอมโปร่ง ผิวแห้ง หยาบ ร่างกายสูงมากหรือเตี้ยมาก ผมหยิกบาง มีความกระตือรือร้น เคลื่อนไหวเร็ว ไม่ชอบอยู่นิ่ง เรียนรู้เร็ว แต่ลืมง่ายตัดสินใจเร็วเครียดง่าย อารมณ์ไม่คงที่
อาการเจ็บป่วยที่พบบ่อย : ซูบผอม ปวดข้อ กระดูกเปราะบาง อาหารไม่ย่อย ท้องผูก
อาหารที่ช่วยปรับสมดุล :
– อาหารที่ช่วยเพิ่มแคลเซียม เช่น นม งา ผักบุ้ง ฟักทอง ใบตำลึง
– อาหารที่ให้ความอบอุ่น จำพวกผักกินหัว เช่น หน่อไม้ มัน เผือก แครอท
– อาหารที่ให้ความชุ่มชื้นรสมัน เช่น ข้าวเจ้า เมล็ดพืช ถั่ว งา
*ควรรับประทานอาหารที่ปรุงโดยผ่านการ ต้ม นึ่ง ที่ย่อยง่าย
การออกกำลังกายที่เหมาะสม : เน้นออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวช้า มีจังหวะ เช่น โยคะ

ปิตตะ (ธาตุไฟ)
ลักษณะ : รูปร่างปานกลาง ผิวแพ้ง่าย หิวบ่อย หงุดหงิดง่าย มีระบบการย่อยอาหารดี ระบบการเผาผลาญและการดูดซึมดี ผิวนุ่ม อุ่น ผมละเอียดบาง ผมหงอกก่อนวัย
อาการเจ็บป่วยที่พบบ่อย : มีไข้ อักเสบร้อนแดงที่ผิวหนัง ติดเชื้อ เจ็บคอ มีแผลในกระเพาะอาหาร เหงื่อมาก ท้องเสีย เลือดออกง่าย
อาหารที่ช่วยปรับสมดุล :
อาหารเน้นที่รสหวาน ขม ฝาด ไม่ผ่านการปรุง เช่น ผักสด ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง
หลีกเลี่ยง อาหารที่ปรุงรสจัด อาหารมัน อาหารทอด(ในน้ำมัน) กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
การออกกำลังกายที่เหมาะสม : ควรออกกำลังกายเบาๆ ในที่เย็นสบาย เช่น ว่ายน้ำ การฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจให้เกิดการผ่อนคลาย

เสมหะ (ธาตุดิน-น้ำ)
ลักษณะ : ใบหน้าอวบอิ่ม ค่อนข้างกลมแป้น ดวงตากลมโตเป็นประกาย ผิวพรรณดีกว่าธาตุอื่นๆ ขนผมดกดำ ผมหนา กินน้อยแต่อ้วนง่าย ง่วงนอนบ่อย จิตใจเย็น
อาการเจ็บป่วยที่พบบ่อย : อ้วนง่าย อาการบวมตามข้อต่อต่างๆ หากธาตุน้ำในตัวไม่สมดุล
อาหารที่ช่วยปรับสมดุล :
อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ฝาด ขม เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ดีปลี พริกไทย กะหล่ำ แครอท ผักบุ้ง มะระ เห็ด ตำลึง
เลี่ยงอาหารดอง ของมันของทอด และไม่ควรทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากๆ
การออกกำลังกายที่เหมาะสม : เน้นกิจกรรมที่มีความเคลื่อนไหวเยอะๆ เช่น เล่นแบดมินตัน ฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือกิจกรรมกลางแจ้งก็ได้