ภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ โรคยอดนิยม ที่มักจะพบได้บ่อยในวัยเก๋า เพราะเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะยิ่งเสื่อมถอยลง
โดยภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยในประเทศไทยจะพบภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ของผู้สูงอายุในชุมชนถึงร้อยละ 54.9-60.9 และพบภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 50.6
ชนิดของภาวะกลั้นปัสสาวะที่พบมากสุด คือ
-
ปัสสาวะเล็ด และราดร้อยละ 51.3
-
ปัสสาวะราด ร้อยละ 25.6
-
ปัสสาวะเล็ด ร้อยละ 10.3
นอกจากนั้นแล้วภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตในประจำวันอย่างมาก เช่น เมื่อมีปัสสาวะเล็ดบ่อยครั้งจะทำให้ผิวหนังเปียกชื้น เกิดการระคายเคือง เกิดผื่น หรือผิวหนังเปื่อย ผิวหนังฉีกขาด ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนังอย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
-
อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่ออายุเพิ่มขึ้นระบบการทำงานของร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมถอยลง เช่นฮอร์โมนที่ลดลง มีการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเชิงกราน การบีบรัดของกล้ามเนื้อหูรูดเสื่อม
-
โรคประจำตัวของผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน เบาจืด โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง และโรคซึมเศร้า
-
ท้องผูกเรื้อรัง เพราะก้อนอุจจาระที่แข็งเป็นก้อนบริเวณท่อปัสสาวะ จะส่งผลทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้
-
การคลอดบุตรหลายคน หรือคลอดบุตรยาก คลอดผิดท่า หรือเด็กมีน้ำหนักเยอะ จนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัว
-
มีประวัติผ่าตัดอุ้งเชิงกราน ผ่าตัดมดลูก หรือการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
-
มีการอุดกลั้นปัสสาวะ ทำให้มีปัสสาวะตกค้าง อย่างในต่อมลูกหมากของผู้ชาย
-
มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีการอักเสบติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ
-
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
อาการของ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ จะมีอาการปวดปัสสาวะรุนแรงแล้วราดออกมา พบบ่อยในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต จะมีอาการปวดปัสสาวะแล้วเล็ด หรือปัสสาวะรดที่นอน
นอกจากนั้นการไอ หรือจาม ก็จะทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาได้ เนื่องจากมีการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
มักจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะวัยที่หมดประจำเดือน ผู้ที่ผ่านการคลอดบุตร หรือตัดมดลูก สำหรับในเพศชายถ้าหากผ่านการตัดต่อมลูกหมากแล้วก็จะมีอาการเกิดขึ้นได้เช่นกัน
หรือมักจะเกิดในผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะอย่างต่อมลูกหมาก ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ยังก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน เพราะจะทำให้มีการเปียกชื้น หรือส่งกลิ่น โดยอาการแบบนี้จะเกิดกับผู้ชายที่มีต่อมลูหมากโต และผู้หญิงที่มีถุงน้ำบริเวณท่อปัสสาวะ
ด้วยสาเหตุนี้กรมการแพทย์จึงแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อทำให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะทำงานได้อย่างปกติดังนี้
-
บริหารกล้ามเนื้อหูรูด โดยฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดครั้งละประมาณ 5 วินาที และหยุดขมิบ 10 วินาที ทำซ้ำ ๆ ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็นทุก ๆ วัน และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
-
ฝึกควบคุมการขับถ่าย ให้ยืดระยะเวลาในการเข้าห้องน้ำให้นานออกไป โดยการกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นก่อนถ่ายปัสสาวะ
-
ไม่ควรเบ่งปัสสาวะรุนแรง และควรปัสสาวะให้หมด
-
หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
-
ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้สมองบวม ไตทำงานหนัก จนทำให้เกิดปัสสาวะเล็ด
-
ควรดื่มน้ำ 30-50 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ไม่ควรดื่มในปริมาณมากครั้งเดียวจนหมด
หากผู้สูงอายุปฏิบัติได้ตามนี้ก็อาจจะทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่กำลังเจอกับภาวะ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ก็ยังสามารถหาตัวช่วยเสริม เพื่อลดการเกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมต่างๆ ได้เช่นกัน
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
เอกสารอ้างอิง
[1]ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในผู้สูงอายุ [ ค้นหาเมื่อ 2564 ก.พ. 22]
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/bcnsp/article/download/239987/164435/
[2]บทความฟื้นวิชา ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ในผู้สูงอายุ[ ค้นหาเมื่อ 2564 ก.พ. 22]
[3] แนะผู้สูงอายุบริหารกล้ามเนื้อหูรูดช่วยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้[ ค้นหาเมื่อ 2564 ก.พ. 22]