ไข้เลือดออก โรคที่อยู่กับสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน มาทำความรู้จักและสังเกตอาการ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรค ไข้เลือดออก
จากรายงานของกองควบคุมโรค กรมอนามัย ในปี 2563 (สัปดาห์ที่ 1-49) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก ในประเทศไทยจำนวน 70,429 คน คิดเป็นอัตราส่วนผู้ป่วย 106.23 คนต่อประชากรไทยแสนคน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต จำนวน 50 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้โรค ไข้เลือดออก ยังติดอันดับ 1-10 โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในประเทศไทยอีกด้วย บทความฉบับนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรค ไข้เลือดออก กันค่ะ
โรค ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด จะทำให้มีไข้และอาการอื่นๆ ของโรคตามมา โดยเชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ การป่วยเป็นโรคดังกล่าวในแต่ละครั้งจะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่อยู่ในยุงลายตัวที่มากัดและทำให้เกิดโรค ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์อื่น
ดังนั้น คนที่เคยเป็น ไข้เลือดออก มาแล้ว สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ การป้องกันการถูกยุงลายกัดจึงมีความสำคัญมาก
อาการแสดง
อาการไข้เลือดออก ที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ อาการไข้และอาการอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่นแดงตามตัวคล้ายผื่นโรคหัด โดยผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสนาน โดยเมื่อได้รับยาไข้จะลดแล้วกลับมาเป็นซ้ำนาน 3-7 วัน อาจพบอาการเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น มีเลือดออกใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน มีเลือดปนกับปัสสาวะหรืออุจจาระ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยถ้าเลือดไหลออกมาก อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงเฉียบพลันเกิดภาวะช็อค (dengue shock syndrome) และทำให้เสียชีวิตได้
ระยะของโรค ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะได้แก่
- ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมกับอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระบอกตา เบื่ออาหาร นานประมาณ 3-7 วัน โดยปกติจะมีอาการไม่รุนแรง อาจพบผื่นเลือดออกได้ในระยะนี้ สิ่งที่สำคัญคือระยะนี้เป็นระยะฟักตัว และระยะติดต่อของเชื้อไวรัสเดงกีในยุงลายและในคน
- ระยะวิกฤต เกิดหลังจากไข้ลด ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดลดต่ำมากอาจทำให้มีการรั่วของของเหลวออกนอกเส้นเลือดทำให้ความดันโลหิตต่ำลงเฉียบพลัน มีอาการช็อค มีการทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่เกิดภาวะวิกฤต
- ระยะฟื้น เป็นระยะที่ผู้ป่วยกำลังหาย ดังนั้น ผู้ป่วยจะไม่มีไข้ มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจมีผื่นแดงที่มีวงขาวขึ้นตามตัวและมีอาการคันตามฝ่ามือฝ่าเท้าได้
การปฏิบัติตัวเมื่อเป็น ไข้เลือดออก
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง เป็นการรักษาตามอาการ สิ่งที่สำคัญคือเมื่อมีไข้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมกับการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาลดไข้กลุ่มอื่น เช่น แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกมาขึ้น สามารถให้ยาต้านอาเจียนเพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยจิบเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ อ่อนเพลีย ทั้งนี้ต้องคอยสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง มีเลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ปัสสะวะหรืออุจจาระมีเลือดปน รวมถึงอาการปวดท้องมาก ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
การป้องกัน
วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ
- ป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยการสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในรูปแบบต่างๆ ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงยุงลายได้
- ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยการปิดภาชนะต่างๆ และทำลายภาชนะที่ไม่ได้ใช้ ไม่ให้มีแหล่งน้ำขังที่ยุงลายสามารถไปวางไข่ได้ เปลี่ยนน้ำในแจกันบ่อยๆ รวมถึงปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างต้นไม้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในผู้ป่วยที่อายุ 9-45 ปี ที่ประวัติเคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมก่อนทำการฉีดวัคซีน
หากมีข้อสงสัย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง สุขภาพและการใช้ยา สามารถปรึกษากับเภสัชกรได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสะดวกมากยิ่งขึ้น สามารถปรึกษาเภสัชกรร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ผ่าน Application ALL PharmaSee ได้ตลอด 24 ชั่วโมง มาสุขภาพดีไปด้วยกันนะคะ
- กองควบคุมโรค สำนักอนามัย. สถานการณ์โรคไข้เลือดออก สัปดาห์ที่ 49 ปี 2563. 12 ธันวาคม 2563 retrieved from www.bangkok.go.th
- กองควบคุมโรค .ไข้เลือดออก. Retrieved from https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=44, accessed on 1 March 2021
- อ.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ไข้เลือดออก..ภัยร้ายใกล้ตัว. Retrieved from https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/04302020-1700, accessed on 1 March 2021
- พญ. ปรารถนา ปันทะ นายแพทย์ชำนาญการ. โรคไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้…จริงหรือ?. Retrieved from https://www.painandpill.com/adult/Dengue, accessed on 1 March 2021
- Hfocus.org. อย.แก้คำเตือนวัคซีนไข้เลือดออก คนไม่เคยติดเชื้อไม่ควรฉีดเหตุเสี่ยงเป็นโรครุนแรงขึ้น. Retrieved from https://www.hfocus.org/content/2018/05/15756 accessed on 1 March 2021